เรียนรู้อะไรจากน้ำท่วม

ก็รู้กันอยู่ว่าตอนนี้น้ำท่วมภาคกลางของไทยเรา จากที่ได้ฟังข่าวติดตามสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะทางทีวี วิทยุ อินเตอร์เนต จะเห็นได้ว่าข่าวมันมีหลายกระแสมาก อันนี้ก็แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละคนไป ว่าจะเชื่อแบบไหนยังไง แต่ก็ขอให้คิดตามข้อมูล(ที่ไม่รู้ว่าจริงหรือเท็จแค่ไหน) และวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นกลาง

พอดีไปเจอบทความของ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ท่านได้เขียนไว้ที่ แนวหน้า

ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าเห็นด้วยและตรงใจที่สุดแล้ว โดยส่วนตัวคิดว่าบทความนี้เป็นบทความที่ดีนะ เลยอยากช่วยกระจายบอกต่อ

เห็นด้วย… “คนไทยทนน้ำได้ แต่ทนนายกฯ โง่ไม่ได้” (เจิมศักดิ์ขอคิดด้วยคน)

พิบัติภัยน้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง

เรื่องที่ไม่คิดว่าจะได้รู้ ก็ได้รู้

เรื่องที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น ก็ได้เห็น

คนไทยทุกคน ก็คงจะได้รู้ได้เห็น ได้เรียนรู้ประเด็นน่าสนใจมากมายหลากหลาย

ผมขอยกตัวอย่าง บางส่วนที่ผมได้รู้คิดจากพิบัติภัยน้ำท่วมครั้งนี้

 

1) ผมได้เห็นว่า ประเทศของเราไม่ได้ขาดแคลนคนที่มีความรู้ความสามารถเลย เพียงแค่คนเก่งๆ เหล่านั้นไม่ได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารประเทศ

แต่คนที่ได้มีอำนาจ มีตำแหน่ง มีบทบาทในการบริหารประเทศ กลับคลาคล่ำไปด้วยคนที่ไม่รู้จริง
ชาวบ้านเรียกว่า “โง่”
แนวคิดในการแก้ไขปัญหาที่สร้างสรรค์ มีเหตุมีผล น่าเชื่อถือ ทั้งหมดล้วนออกมาจากฟากฝ่ายของผู้คนที่ไม่ได้มีอำนาจบริหารประเทศทั้งสิ้น

ตรงกันข้าม แนวคิดแย่ๆ คำพูดที่ตลบตะแลง ผิดเพี้ยนจากความจริง ปรากฏออกมาจากคนที่มีอำนาจรัฐมากมายหลายครั้ง

ใช่หรือไม่ว่า งานที่สำคัญที่สุด ต้องเอาคนเก่งที่สุด เหมาะกับงานที่สุด เข้ามารับผิดชอบ แต่ทำไมคนเก่งกล้าสามารถ จึงถูกกีดกันอยู่ข้างนอก ปล่อยให้งานสำคัญที่สุดของประเทศชาติเวลานี้ ถูกดำน้ำไปเรื่อยๆ โดยกลุ่มคนที่เหมาะสมน้อยกว่า?

ผมไม่แปลกใจที่มีคนวิพากษ์กันตรงๆ ถึงขนาดว่า “เอาปัญญาชนมากรอกทราย เอาปัญญาควายมาวางแผน”
แสดงว่า ระบบคัดสรรคนเข้ามาทำงานแก้ไขปัญหาบ้านเมืองของเรา น่าจะมีปัญหาแน่นอน

 

2) หากผู้นำประเทศรู้ตัวว่าตนเองไม่รู้จริง ไม่มีความสามารถเพียงพอ หรือรู้ว่าตัวเองโง่ ประเทศชาติยังพอมีความหวัง เพราะผู้นำก็จะพยายามปรับปรุงพัฒนาตนเอง เลือกหาคนที่รู้จริงกว่าตนเข้ามาช่วยแก้ปัญหา
หรือเมื่อรู้ว่าตนเองทำไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องพร้อมจะเปิดทางให้คนที่มีความรู้ความสามารถมากกว่าตนเข้ามาทำงานของส่วนรวมแทน

ตำแหน่งนายกฯ ไม่ใช่ผู้บริหารของบริษัทส่วนตัวตระกูลหนึ่งตระกูลใด
แต่เท่าที่ติดตามการทำหน้าที่ของนายกฯ ผมกลับพบว่า คุณยิ่งลักษณ์ยังไม่รู้ตัวว่า เธอเองไม่มีความรู้พอ

นี่คือปัญหาที่อันตรายอย่างยิ่ง

เพราะหากเธอยังฝืนตัวเองอยู่ในจุดที่ประเทศชาติต้องการคนที่มีความสามารถมากกว่าเธอ แทนที่เธอจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา แต่เธอกลับจะกลายเป็นตัวถ่วงของการแก้ปัญหา
หรือกลายเป็นตัวปัญหาไปเสียเอง

 

3) นอกจากนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะมีความสามารถไม่เพียงพอในตัวเองแล้ว ยังไม่สามารถเลือกใช้คนให้เหมาะกับงานได้อีกด้วย

ในประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยาถูกข้าศึกตีแตก ก็เพราะแม่ทัพนายกองที่มีความสามารถไม่ได้ถูกจัดวางให้เหมาะกับตำแหน่งหน้าที่สำคัญๆ

การที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ แต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีต ผบ.ตร. เข้ามาเป็นแม่ทัพแก้ปัญหาน้ำท่วม ทั้งๆ ที่ ไม่ตรงกับความถนัดหรือประสบการณ์ความสามารถ

แม้แต่หน่วยงานรัฐที่น่าจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เช่น นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงหน่วยงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ กองทัพบก-เรือ-อากาศ กระทรวงกลาโหม กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ ทั้งหมด ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมสั่งการของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก โดยตรง

ย่อมจะทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ห่วงหน้าพะวงหลัง

เกิดปัญหาการเมืองในการทำงานภายในรัฐบาลเอง (ไม่ต้องไปโทษใครอื่น)

 

4) เราได้เรียนรู้ว่า ในวิกฤติครั้งนี้ ประชาชนไม่สามารถพึ่งพารัฐบาล และศปภ.ได้อย่างแท้จริง
ลำพัง ศปภ. ยังเอาตัวเองไม่รอด ต้องย้ายที่ทำงานหนีน้ำท่วม ทั้งๆ ที่ เพิ่งประกาศยืนกรานกับประชาชนว่าน้ำจะไม่ท่วมที่ตั้ง ศปภ.ที่ดอนเมืองไม่กี่วัน

ศูนย์อพยพที่ประกาศให้ผู้ประภัยเข้าไปอาศัยอยู่ ศปภ.ยืนยันว่าจะไม่ถูกน้ำท่วม แต่สุดท้าย น้ำก็ท่วม ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพซ้ำซ้อนซ้ำซาก

สะท้อน การทำงานที่ขาดข้อมูล ขาดการวางแผน และขาดประสิทธิภาพในการทำงานอย่างแท้จริง

วิกฤติน้ำท่วมยามนี้ ที่ทำงานของ ศปภ.ย่อมเสมือนเป็นศูนย์บัญชาการในยามสงคราม จะต้องตั้งมั่นอยู่ในที่มั่นคง อำนวยการรบอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ การที่กองบัญชาการถูกข้าศึก (น้ำ) เจาะทะลุทะลวง พ่ายแพ้ซ้ำซาก ก็ย่อมหมดความน่าเชื่อถือ

ความล้มเหลวในการทำงานอย่างซ้ำซาก พ่ายแพ้ทุกสมรภูมิของ ศปภ.และรัฐบาล จึงทำให้ได้เรียนรู้แน่ชัดว่า ประชาชนไม่สามารถพึ่งพา ศปภ.ได้อย่างแท้จริง

 

5) เราได้เรียนรู้ว่า บทบาทการทำงานระหว่างฝ่ายการเมืองและข้าราชการอย่างที่ผ่านมานี้ กำลังจะพาประเทศชาติจมดิ่ง

เมื่อฝ่ายการเมืองไม่มีประสบการณ์ความรู้ แต่มีอำนาจ (และกำลังคึกคะนองกับการใช้อำนาจ)

แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ มีประสบการณ์ความรู้ มีข้อมูล และทำงานต่อเนื่องมาก่อน กลับยอมตนตามความต้องการของฝ่ายการเมือง

ไม่กล้าท้วง ไม่กล้าขัด
เพราะถ้าขัด ฝ่ายการเมืองที่มืดบอดและบ้าอำนาจก็จะเล่นงานเขา
เพราะฉะนั้น การบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ จึงกลายเป็นว่า ทุกกลไกทุกภาคส่วนของรัฐ ต้องห้ามฉลาดกว่านายกฯ ห้ามฉลาดกว่ารัฐมนตรี ห้ามฉลาดกว่า ศปภ.

ประเทศชาติก็จึงได้ล่มจมอย่างที่เห็น

น่าเสียดาย… ข้าราชการที่ทำงานบนฐานวิชาการ ข้อมูลที่ถูกต้อง และมีความแม่นยำในการตัดสินใจ แน่วแน่ เหมือนที่เราเคยเรียกกันว่า “เทคโนแครต” ไม่ใช่นักการเมืองในคราบข้าราชการ ปัจจุบัน เหลือน้อยเต็มที
ถ้ายังมีอยู่ ในวิกฤติน้ำท่วมคราวนี้ เราน่าจะได้เห็นใครออกมาทักท้วงการตัดสินใจ หรือการสั่งการแบบไร้ข้อมูลความรู้ของนักการเมืองบ้าอำนาจกันบ้าง

 

6) เมื่อเกิดวิกฤติน้ำท่วม ทำให้เราได้รู้ว่า เราขาดข้อมูลที่จำเป็นมากขนาดไหน

เรายังไม่มีระบบจัดเก็บข้อมูลที่พร้อมใช้งาน แม่นยำ และทันสถานการณ์

ไม่ว่าจะเป็น ปริมาณน้ำ ทิศทางการไหลของน้ำ สภาพพื้นที่ ศักยภาพของระบบระบายน้ำที่พร้อมใช้งานจริง ฯลฯ

เมื่อน้ำมาเยือน การตัดสินใจทั้งหลายจึงอยู่บนฐานของการคาดเดา
แต่ละส่วน แต่ละหน่วยงาน ตัดสินใจบนฐานข้อมูลคนละชุด เพราะแต่ละคนคาดเดาข้อมูลต่างกัน

 

7) เราได้เรียนรู้ว่า ผลประโยชน์เรื่องน้ำมีความขัดแย้งมหาศาล

ตั้งแต่ในภาพใหญ่ มีการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ เช่น การตัดสินใจว่าจะให้เขื่อนกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรหน้าแล้ง หรือจะปล่อยน้ำผลิตกระแสไฟฟ้า หรือจะปล่อยน้ำแค่ไหน ช่วงไหน ใครได้ประโยชน์ จะคาดการณ์ปริมาณน้ำที่พอเหมาะเท่าใด ฯลฯ

แม้แต่ในภาพย่อย ลงไปในระดับชุมชน ในพื้นที่ต่างๆ ก็มีการขัดกันของผลประโยชน์ส่วนบุคคล เช่น เมื่อเกิดปัญหาน้ำมากเกินไป (น้ำท่วม) เราก็ได้เห็นว่า ประชาชนต่างพยายามรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง ด้วยการผลักดันน้ำให้ไหลไปทางอื่น

บ้างกั้นกระสอบทราย เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าพื้นที่ของตน
บ้างถึงกับไปรื้อคันกั้นน้ำ เพื่อให้น้ำไหลออกจากพื้นที่ของตนไวๆ

ต่อไปนี้ เราคงต้องจัดการทั้งเรื่องผังเมือง ระบบระบายน้ำ ทั้งน้ำหลากและน้ำฝน เพื่อให้มีระบบที่ชัดเจน มีการบริหารที่ประสิทธิภาพ ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ และยอมรับในการตัดสินใจร่วมกัน

 

8) เมื่อเกิดปัญหาในระดับพื้นที่ เช่น การพังคันกั้นน้ำ หรือแม้แต่การช่วยเหลือผู้ประสบภัย เราได้เห็นว่า บทบาทของวัดมีน้อยลงกว่าแต่ก่อน

วัดไม่สามารถเป็นผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างคู่ขัดแย้งในพื้นที่
วัดไม่มีบทบาทที่โดดเด่นในการเป็นสถานที่พักพิง หรือให้ความช่วยเหลือผู้ประภัย เมื่อพิจารณาเทียบกับจำนวนวัดที่มีอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม
วัดไม่มีภูมิปัญญาที่จะเข้าใจสภาพภูมิศาสตร์และธรรมชาติของน้ำในท้องถิ่นของตน
สะท้อนบทบาทและสถานะของวัดที่เปลี่ยนไปจากแต่ก่อน

 

9) เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้เราได้เรียนรู้สภาพกายภาพพื้นที่ของ กทม. รวมถึงจังหวัดที่น้ำท่วมได้ดีขึ้น

ตรงไหนเป็นที่ราบภาคกลาง ตรงไหนเป็นทางน้ำหลาก พื้นที่รับน้ำ หรือถนนเส้นไหนเป็นแนวคันกั้นน้ำตามพระราชดำริ ฯลฯ
รู้ว่าทิศทางการไหลของน้ำเพื่อจะออกไปสู่ทะเลนั้น ไปได้กี่ทาง คลองสายไหน แม่น้ำอะไร และต้องผ่านย่านไหนบ้าง
นอกจากนี้ น้ำท่วมครั้งนี้ ยังทำให้เราได้รู้ซึ้งถึงกายภาพของมวลน้ำเอง ว่ามีพลังมหาศาลเพียงใด
น้ำยิ่งลึก แรงดันยิ่งมาก  มวลน้ำมหาศาล แม้จะดูตื้นเขิน แต่ก็มีพลังมหาศาลเช่นกัน
สามารถทะลุทะลวง ลักลอบ ไหลหลาก เอ่อท้น ซอกแซก ชอนไช ไหลจากสูงไปต่ำ
คนไทยที่ว่ากันว่ามีนิสัยเหมือนน้ำ คือ ไหลไปเรื่อย เปลี่ยนรูปร่าง พยายามหาช่องลอดรูโหว่ หาช่องกฎหมาย เพื่อเอาตัวรอดเรื่อยไป คงจะได้เห็นคุณลักษณะในด้านความเลวร้ายของน้ำเช่นเดียวกับอุปนิสัยของตน

 

10) เราได้เรียนรู้ว่า แม้แต่นายกรัฐมนตรี ซึ่งร่ำรวยเงินทอง แต่งตัวโก้หรู เมื่อถูกวิจารณ์ว่าใส่รองเท้าบูทยี่ห้อหรูหรา “เบอร์เบอร์รี่” ราคาแพงระยับ ระหว่างออกไปลงพื้นที่น้ำท่วม ในขณะที่ชาวบ้านทุกข์ยากลำบากแสนสาหัส

นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ยังไหลหาทางออกเหมือนน้ำ
รีบอ้างว่า เป็นรองเท้าบู้ทจากจีน
พูดง่ายๆ ว่า เป็นของปลอม
ทำให้ได้เรียนรู้อีกว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ชอบของปลอมๆ โดยไม่แคร์กับเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
ก็ไม่แปลกใจว่า ทำไมจึงชอบใช้คำว่า “นางสาว” นำหน้า

 

11) ที่ผ่านมา อาจเป็นโชคร้ายของประเทศไทย ที่ได้ผู้นำประเทศไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัญหาของบ้านเมือง

การมีผู้นำที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับสถานการณ์ปัญหา เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก
ในหลายประเทศ ยามสงครามเขาใช้ผู้นำแบบหนึ่ง แต่หลังสงคราม เขาก็มีวิธีเปลี่ยนไปใช้ผู้นำที่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ใหม่

ผมต้องพูดตรงๆ ว่า คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับโอกาสให้แสดงความสามารถในการเป็นผู้นำสูงสุดในฝ่ายบริหารแล้ว ผลลัพธ์ปรากฏเป็นความเดือดร้อน เสียหาย ย่อยยับ อย่างที่เป็นอยู่

คุณยิ่งลักษณ์ไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้นำในยามวิกฤติเลย!

ในขณะเดียวกัน หลังสงครามน้ำท่วมครั้งนี้ บ้านเมืองต้องการฟื้นฟูทั้งกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และจิตใจ รวมทั้งความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเร่งด่วนที่สุด คุณยิ่งลักษณ์ก็ไม่ได้มีวี่แววที่จะเป็นความหวังอะไรให้ใครได้เลยแม้แต่น้อย

แค่พูดจายังผิดๆ ถูกๆ สื่อสารไร้ทิศทางและวิสัยทัศน์ในการนำพาประเทศ ฯลฯ
ยังไม่นับภาระเงื่อนไขทางการเมืองส่วนตัวที่พี่ชายของเธอ “ขี่คอ” เธออยู่
การโยนความผิดให้รัฐมนตรีเพียง 2-3 คน คงไม่ใช่ทางแก้ปัญหาประเทศชาติ
ไม่แปลกใจ… บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์แนวหน้า เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2554 เขียนชัดถ้อยชัดคำ ตรงไปตรงมาว่า “คนไทยทนน้ำได้ แต่ทนนายกฯ โง่ไม่ได้”

 

พรรคเพื่อไทย และคุณยิ่งลักษณ์ คงต้องพิจารณาตัวเองว่าจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไรกับบ้านเมือง?

 

ดร.เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต